วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กระบวนการผลิตภาพยนตร์

กระบวนการผลิตภาพยนตร์









ขั้นตอนการเตรียมงานก่อนการถ่ายทำภาพยนตร์

          การเตรียมงานก่อนการถ่ายทำภาพยนตร์เปรียบได้ว่าเป็นการวางโครงสร้างให้กับงานกองถ่ายทั้งหมด การถ่ายภาพยนตร์จะดำเนินการไปด้วยดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดเตรียมงานเป็นสำคัญ ดังนั้นการเตรียมการที่ละเอียดรอบคอมและรัดกุม จะช่วยให้การถ่ายทำภาพยนตร์ดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยและราบรื่น งานก่อนการถ่ายทำภาพยนตร์ที่สำคัญมีดังนี้
1. การจัดหาบทภาพยนตร์  เป็นการนำเอาเนื้อหาที่ได้จากผู้ประพันธ์หรือผู้เขียนบทที่มีแนวคิดน่าสนใจมาผูกเป็นเรื่องราว แล้วพัฒนาจนเป็นบทภาพยนตร์ เพื่อใช้เป็น พิมพ์เขียว ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องถือเป็นแนวปฏิบัติ
2. การคัดเลือกนักแสดง  ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จะพิจารณาคัดเลือกผู้แสดงที่เหมาะสม โดยเฉพาะการคัดเลือกตำรา เพราะเป็นบุคคลสำคัญของเรื่องในภาพยนตร์ เพื่อให้การถ่ายทอดข่าวสารเป็นไปอย่างมีอรรถรสและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการสร้างภาพยนตร์
3. การจัดตารางการถ่ายทำภาพยนตร์  เป็นการแบ่งปริมาณงานในการถ่ายทำตามสภาพงานที่ได้จากใบแยกบทภาพยนตร์ เพื่อให้การเตรียมงานของฝ่ายต่างๆประสานสัมพันธ์กัน โดยถือเป็นแผนผังเวลาของการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย
4. การจัดหาสถานที่   เป็นการตระเตรียมบรรยากาศสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่จะใช้เป็นฉากในภาพยนตร์เพื่อให้การถ่ายทำภาพยนตร์เป็นไปด้วยความราบรื่นตามสภาพที่ควรจะเป็น
5. การออกแบบและสร้างฉากภาพยนตร์  เป็นการดัดแปลงหรือตกแต่งสถานที่ให้พร้อมที่จะใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ โดยให้มีบรรยากาศตามบทภาพยนตร์ที่กำหนอกไว้ รวมทั้งการเตรียมเครื่องแต่งกายและการตกแต่งอื่นๆ ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับเนื้อหา
6. การจัดเตรียมวัสดุและอุปการณ์  เป็นการเลือกและตระเตรียมสิ่งต่างๆ ที่จะใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสรรพ ทั้งส่วนที่เป็นฟิล์ม อุปกรณ์การถ่ายทำ อุปกรณ์ประกอบกล้อง อุปกรณ์รองรับกล้อง อุปกรณ์เสียง อุปกรณ์เกี่ยวกับแสง และอื่น ๆ
7. การจัดทีมงาน  เป็นการคัดเลือกทีมงานแต่ละฝ่ายที่มีความสามารถและเหมาะสมกับภาพยนตร์เข้ารับการถ่ายทำภาพยนตร์โดยทีมงาน จะต้องสามารถประสานงานกันได้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์และผสมผสานกลมกลืนกัน
8. การกำหนดวงเงินงบประมาณ   เป็นการประมาณวงเงินที่จะใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น



ขั้นตอนการถ่ายทำภาพยนตร์



          เมื่อมีการเตรียมงานก่อนการถ่ายทำภาพยนตร์พร้อมสรรพแล้ว งานในขั้นตอนการถ่ายทำก็เริ่มดำเนินการเพื่อให้จินตนาการเกิดเป็นภาพและเสียงลงบนฟิล์มภาพยนตร์ในการทำหน้าที่สื่อสารอย่างมีศิลปะ งานในขั้นตอนนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้กำกับภาพยนตร์ ที่จะต้องบริหารงานในการถ่ายทำดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด โดยมีความงดงามในทางศิลปะและการสื่อสารดีที่สุดจากความร่วมมือของทุกๆฝ่าย งานที่สำคัญในขั้นตอนการถ่ายทำภาพยนตร์มีดังนี้
1. การประชุมทีมงาน เป็นการซักซ้อมความเข้าใจและตรวจสอบความพร้อมก่อนที่จะยกกองถ่ายทำออกไปปฏิบัติงาน โดยการประสานงานและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้
2. การยกกอง เป็นการเคลื่อนกองถ่ายสู่การปฏิบัติงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้โดยการนำเอาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการถ่ายทำและบุคลากรไปยังที่นัดหมายล่วงหน้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทำที่ไม่ต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
3. การดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นการลงมือถ่ายทำภาพยนตร์ภายใต้การอำนวยการของผู้กำกับภาพยนตร์เพื่อให้ได้ภาพและเสียงเกิดขึ้นบนฟิล์มภาพยนตร์

ขั้นตอนหลังการถ่ายทำภาพยนตร์
\ ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์อยู่นั้น อาจจะดำเนินการในขั้นตอนหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ควบคู่กันไปด้วยก็ได้ เช่น การส่งฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแล้วไปดำเนินการล้างและพิมพ์ฟิล์ม เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ในการถ่ายทำ และส่งให้ผู้ตัดต่อไปเรียงคัท หรือเรียงซีน  (assembly) เป็นต้น อย่างไรก็ดีภาพยนตร์ที่เตรียมการและลงมือถ่ายทำตามการแยกบทภาพยนตร์จะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะฉายให้ผู้ดูได้ ต้องผ่านงานหลังการถ่ายทำภาพยนตร์แล้ว ที่สำคัญมีดังนี้
1. การส่งฟิล์มที่ถ่ายทำไปแล้วดำเนินการล้างและพิมพ์ฟิล์ม  โดยส่งฟิล์มพร้อมกับใบรายงานการถ่ายทำภาพยนตร์ (camera  report) ให้แลปทำการล้างและทำการพิมพ์ฟิล์มตามประเภทของฟิล์มที่ใช้ถ่ายทำอันได้กำหนดไว้แต่แรกแล้ว เช่น ถ้าใช้ฟิล์มเนกาตีฟถ่ายทำ ก็อาจทำการส่งล้างและพิมพ์เป็นฟิล์ม รัชพรินต์ (rush  print) ไว้เพื่อตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่องที่จะถ่ายทำ เป็นต้น
2. การตัดต่อลำดับภาพและเสียง   เป็นการนำฟิล์มที่ผ่านการตรวจสอบความสมบูรณ์จากผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว ส่งไปให้ผู้ตัดต่อภาพยนตร์ดำเนินการคัดเลือกช้อต (shot) เพื่อนำมาจัดวางให้อยู่ในช่วงของคัทหรือซีนที่ถูกต้องด้วยการกำหนดความยาวของแต่ละช้อตให้เหมาะสม ที่เรียกว่าเวิร์คพรินต์ (work  print) ควบคู่ไปกับการเรียง และตัดต่อเส้นเสียงที่เทียบเคียงกับเวิร์คพรินต์เพื่อรวมเส้นเสียง (dubbling/mixing) จากเส้นเสียงแมกเนติก (magnetic  sound track) เป็นสันเสียงออปติคเคิลเนกาตีฟ (optical  negative  sound track) สำหรับภาพยนตร์ที่บันทึกเสียงตอนถ่ายทำ จากนั้นก็ส่งมอบให้แลปดำเนินการตัดต่อจากฟิล์มต้นฉบับ (negative  assembly) เข้ากับฟิล์มอินเตอร์เนกาตีฟ (internegative) ที่ทำภาพพิเศษ (special  effect) เพื่อเป็นฟิล์มแม่แบบ (master)
3. การพิมพ์ฟิล์มภาพยนตร์   เป็นการนำฟิล์มแม่แบบไปจัดพิมพ์ ซึ่งก่อนที่จะพิมพ์รีลิสพรินต์เพื่อนนำออกฉายเผยแพร่นั้น จะต้องทำการแก้ไขสีและความสว่างให้มีความกลมกลืนและสมดุลกันโดยการทำ แอนเชอร์พรินต์ (answer  print) ไว้เพื่อควบคุมการพิมพ์ฟิล์มที่มาจากฟิล์มแม่แบบควบคู่ไปกับการพิมพ์เส้นเสียง ซึ่งเป็นฟิล์มรีลิสพรินต์ที่ฟฟิล์มภาพยนตร์ที่มีเสียงในฟิล์มร่วมอยู่(composed  or  married)
4. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย   เป็นการนำภาพยนตร์ที่ทำเสร็จสมบูรณ์แล้วออกฉายให้ผู้ดูได้รับสาร โดยผ่านสื่อภาพยนตร์ ซึ่งมีคนกลางเป็นผู้ทำหน้าที่ในการเผยแพร่หรือจัดจำหน่าย

การสร้างภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการดำเนินที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนอยู่พอสมควร จึงทำให้เห็นว่าภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนที่มีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อย และเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้ดูได้อย่างมหาศาล ซึ่งในเรื่องนี้สามารถสรุปว่า ตัวสื่อนั่นเองเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ตัวสื่อนั่นแหละที่เป็นตัวสารอยู่ด้วย ไม่ว่าภาพยนตร์นั้นจะเป็นภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์การศึกษา ภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์โฆษณา หรือภาพยนตร์บันเทิงต่างก็ล้วนก่อให้เกิดผลต่อผู้ดูไม่มากก็น้อยด้วยกันทั้งสิ้น









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น